หม่อน กับการวิจัย ลดน้ำตาลในเลือด

หม่อน( Mulberry) ชื่อภาษาท้องถิ่นได้แก่ หม่อน, มอน (อีสาน),  ซึมเฮียะ (จีน) เป็นไม้พุ่มขนาดย่อม เปลือกต้นสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยวออกสลับสีเขียวเข้มรูปหัวใจขอบจักฟันเลื่อย ผิวสาก สีเขียวเข้ม เส้นใบตามยาว เส้น ดอกเล็ก ๆ กลม  เป็นช่อแท่งกลมเล็ก ๆ ดอกตัวผู้และตัวเมียแยกกัน ดอกย่อยมี 4 กลีบ ออกตามซอกใบที่ปลายกิ่งยาวราว 1 นิ้ว  ผลเป็นผลรวมออกเป็นพวงวงกลมเล็กเมื่อสุกมีสีม่วงแดงถึงดำผลกลมเล็ก ๆ เมื่อสุกสีน้ำตาลดำเป็นพวง และยังเป็นพืชอาหารตามธรรมชาติของหนอนไหม

ประโยชน์หม่อน

  1. ใบสดเมื่อนำใบมาเคี้ยวสด ๆ จะมีรสหวานอมขมเย็นเล็กน้อย บางท้องถิ่นนำมากินสด
  2. ปัจจุบันนิยมนำใบมาตากแห้ง และชงดื่มเป็นน้ำชาใบหม่อน ซึ่งจะให้กลิ่นหอมมีเอกลักษณ์ และรสชาติเหมือชา แต่อมหวานเล็กน้อย
  3. บางท้องถิ่น เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ นิยมใบมาปรุงอาหารในเมนูจำพวกต้มต่าง ซึ่งจะเพิ่มรสชาติให้อร่อยมากยิ่งขึ้น
  4. ในส่วนของผลสุก สามารถกินเป็นผลไม้หรือเป็นอาหารนกได้
  5. ในบางพื้นที่ที่มีการปลูกหม่อนมากจะนำผลหม่อนมาหมักเป็นไวน์จำหน่าย ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตาม OTOPต่างๆ ลักษณะไวจากผลหม่อนจะเป็นสีม่วงอมแดง หรือนำผลสุกมารับประทานสดซึ่งจะให้รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย หรือจำหน่ายผลหม่อนสุกกินสด

วิธีการนำไปใช้ประโยชน์

  1. การเลือกใบหม่อนเพื่อทำยา ควรเลือกใบเขียวสด ดูอวบทั่วทั้งใบ และไม่มีรอยกัดกินของแมลง
  2. การนำใบหม่อนมาทำยาสามารถทำด้วยวิธีการตากแห้งใบ แล้วบดอัดใส่แคปซูลรับประทานหรือการนำใบแห้งมาต้มดื่มเป็นชาใบหม่อน
  3. ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่อง และในปริมาณที่มากๆ เพราะอาจได้รับสารแทนนินที่มีผลต่อระบบการย่อยอาหารในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดท้องอืด อาหารไม่ย่อยได้
  4. หากพบมีอาการแพ้หรือมีผลผิดปกติในร่างกาย ให้หยุดการใช้ทันที

สรรพคุณหม่อน

        ผลหม่อน เป็นผลหม่อนมีลักษณะสีแดง สีม่วงแดง และสุกจัดจะออกสีม่วงดำหรือสีดำ พบสารในกลุ่ม anthocyanin ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาการขาดเลือดในสมอง ต่อต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนั้นยังพบวิตามินซี ในปริมาณสูง ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟันอีกด้วย

        ใบหม่อน (ต้มน้ำหรือใบแห้งชงเป็นชาดื่ม) ช่วยในการผ่อนคลาย, แก้ร้อนใน กระหายน้ำ, ช่วยลดไข้หวัด และอาการปวดหัว, ช่วยแก้อาการวิงเวียนศรีษะ, แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้คอแห้ง, ต้านอนุมูลอิสระ ลดการเสื่อมสภาพของเซลล์, ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และช่วยทุเลาอาการจากโรคเบาหวาน, ลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด, ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด, ช่วยลดความดันเลือด และต้านแบคทีเรีย ช่วยแก้อาการท้องเสีย

        ส่วนของกิ่ง ลำต้น พบสารหลายชนิดที่กล่าวในข้างต้น ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ต่อต้านการสร้างเมลานินที่เป็นสารสร้างเม็ดสี จึงมีการสกัดสารดังกล่าวมาใช้ในเครื่องสำอางเพื่อความสวยความงามทำให้ผิวขาวนวล ผลจากฤทธิ์ทางยาอย่างอื่นมีการศึกษาพบช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ ลดอาการมือเท้าเป็นตะคริว

1.บำรุงร่างกาย
เนื่องจากในชาใบหม่อนอุดมไปด้วยสารอาหารประเภทแคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก โซเดียม แมกนีเซียม สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินซี แร่ธาตุสูง และกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายมากถึง 18 ชนิด จึงไม่แปลกใจเลยหากการดื่มชาใบหม่อนจะช่วยบำรุงร่างกายได้ เพราะสารอาหารมากมายที่อุดมอยู่ในนั้น ก็เป็นตัวการันตีได้ว่าชาใบหม่อนเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพจริงๆ


2.ลดน้ำตาลในเลือด
ใบหม่อนมีสารชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างคล้ายกับน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอยู่หลากหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งสารชนิดนี้ถือเป็นสารสำคัญที่ช่วยในการออกฤทธิ์เพื่อลดน้ำตาลในเลือด โดยที่สารดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ซึ่งคอยทำหน้าที่ในการย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้กลายมาเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว นั่นจึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้นั่นเอง

การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาถึงผลในการลดน้ำตาลของใบหม่อน เพื่อสนับสนุนในการที่จะนำมาใช้รักษาเบาหวาน พบว่า...มีการศึกษาทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และการศึกษาทางคลินิก

โดยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัดและชาใบหม่อน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ยับยั้งการดูดซึมกลูโคส และลดน้ำตาลในเลือดได้ สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สาร 1-deoxynojirimysin (DNJ) ซึ่งเป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ ที่มีโครงสร้างคล้ายน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharides)

สำหรับการศึกษาทางคลินิก พบว่า การรับประทานผงใบหม่อนขนาด 5.4 ก./วัน ร่วมกับน้ำ (แบ่งรับประทานครั้งละ 1.8 ก. วันละ 3 ครั้ง) เป็นเวลา 3 เดือน มีผลทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาล และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลง และไม่พบอาการข้างเคียงใดๆ

และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รับประทานแคปซูลผงใบหม่อน ขนาด 6 แคปซูล/วัน (ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร (1 แคปซูล มีผงใบหม่อน 500 มก. เท่ากับ 3 ก./วัน) เป็นเวลา 30 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ขนาด 5 มก./วัน พบว่า กลุ่มที่ได้รับผงใบหม่อนมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม และยังมีผลลดคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ กรดไขมันอิสระ LDL และ VLDL และเพิ่มระดับของ HDL อีกด้วย ..ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยา glibenclamide ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในร่างกาย ยกเว้นระดับไตรกลีซอไรด์ที่มีค่าลดลง

การศึกษาในอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน (ระดับน้ำตาลในเลือด 100-140 มก./ดล.) รับประทานแคปซูลสารสกัดจากใบหม่อน ขนาด 1, 2 และ 3 แคปซูล (ซึ่งมี DNJ เท่ากับ 3, 6 และ 9 มก./แคปซูล) ก่อนอาหาร เป็นเวลา 15 นาที พบว่า มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร และลดการหลั่งอินซูลินได้

การศึกษาผลความปลอดภัยของการรับประทานผงสารสกัดจากใบหม่อนในระยะยาว โดยให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานผงสารสกัดใบหม่อน ขนาด 3.6 ก./วัน (ครั้งละ 1.2 ก. ก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง ; DNJ เท่ากับ 54 มก./วัน ) เป็นเวลา 38 วัน พบว่า สารสกัดใบหม่อนไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเกิดความผิดปกติของไขมันในร่างกาย ไม่มีผลต่อค่าชีวเคมีในเลือดและไม่เกิดอาการข้างเคียงที่อันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร

จากการทดลองทั้งหมด ช่วยให้เราสรุปผลได้ว่า..ใบหม่อนมีผลลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน และคนปกติได้..โดยไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดลดต่ำ ไม่เกิดอาการข้างเคียงที่อันตรายเมื่อรับประทานต่อเนื่องนาน 1 เดือน และมีการศึกษาที่รับประทานในระยะยาว 12 สัปดาห์ ก็ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเช่นกัน

 3.ลดคอเลสเตอรอล
ผลการศึกษาที่ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International ปี 2013 ระบุว่า อาสาสมัครที่ทานผงใบหม่อนในปริมาณ 280 กรัมต่อวัน วันละ 3 เวลาติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน จะส่งผลให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์และระดับไขมัน LDL ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการทานอาหารของแต่ละคนด้วย

 4.ลดความดันโลหิต
สาร GABA มีอยู่ในชาใบหม่อนสูงถึง 230 มิลลิกรัมต่อใบหม่อน 100 กรัมเลยทีเดียว ซึ่งสาร GABA มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูงอย่างที่เราทราบกันดีนั่นเอง

5.ลดอาการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อ
เนื่องจากใบหม่อนอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลากหลายชนิด ดังนั้น จึงสามารถลดอาการอักเสบในร่างกายได้ เพราะสารต้านอนุมูลอิสระนั้น มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อ และลดการเกิดริ้วรอยบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจาก PubMed Health ที่ได้ระบุไว้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระในใบหม่อนนั้น มีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน


หลายคนอาจสงสัยว่าจะสามารถนำใบหม่อนมาทำเป็นเครื่องดื่มชาใบหม่อนได้อย่างไร เราขอแนะนำให้เก็บยอดใบประมาณยอดที่ 3-4 แล้วนำมาหั่นขนาดพอเหมาะ ต่อด้วยการลวกน้ำร้อน 30 นาที แล้วล้างให้สะอาด ตามด้วยการนำไปผึ่งแดดให้หมาดๆ จากนั้นนำมาคั่วด้วยไฟอ่อนๆ จนกว่าใบหม่อนจะแห้ง เสร็จแล้วก็เก็บไว้ในขวดโหลเพื่อนำมาชงดื่มตามที่ต้องการ ในส่วนของข้อควรระวังนั้น สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ทานยา Acarbose ไม่แนะนำให้ดื่ม เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไปค่ะ

 

%ข 11, 2022