ผักเชียงดา กับ การลดน้ำตาลในเลือด
ผักเชียงดา(Gymnema inodorum) เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนือชนิดหนึ่งที่คนในท้องถิ่นนิยมบริโภค บางคนจะเรียกว่า ผักเจียงดา, ผักเชียงดา, ผักม้วนไก่ หรือ ผักเซ็ง แล้วแต่จะเรียกกัน ลักษณะของผักเชียงดา เป็นไม้เลื้อยมีลำต้นสีเขียว ส่วนต่างๆ ที่อยู่เหนือดินมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกเป็นดอกช่อและมีสีเหลืองหรือสีเขียว ผลออกเป็นผักรูปร่างคล้ายหอก
การขยายพันธุ์ นิยมใช้วิธีปักชำหรือการเพาะเมล็ด ผักเชียงดาเป็นพืชที่ทนแล้งแต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีการระบายน้ำที่ดี โดยนิยมปลูกตามริมรั้วหรือปล่อยให้เลื้อยขึ้นตามค้างหรือพาดขึ้นตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้เคียง
คุณค่าทางโภชนาการ
ยอดอ่อนและใบอ่อนของผักเชียงดามีรสขมอ่อนๆ และมีสารอนุมูลอิสระสูงมาก ในผักเชียงดาหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 60 แคลอรี มีน้ำประมาณ 87.9% วิตามินซี 153 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 5905 ไมโครกรัม วิตามินเอ 984 ไมโครกรัม แคลเซียม 78 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม เส้นใยอาหาร 2.5 กรัม โปรตีน 5.4 กรัม ไขมัน 1.5 กรัม และคาร์โบไฮเดรต 8.6 กรัม
สรรพคุณทางยา
ผักเชียงดา มีสรรพคุณมากมาย เช่น
- ช่วยลดน้ำตาล
- แก้ไข้หวัด
- ใช้รักษาอาการท้องผูกและโรคริดสีดวงทวาร
- ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ที่ตกค้างในร่างกาย
- ช่วยฟื้นฟูและบำรุงตับอ่อนให้แข็งแรง
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อและปวดกระดูก
- ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้และโรคหอบหืด
ผักเชียงดาของไทยมีผลการวิจัย เกี่ยวกับการลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมัน ประเทศญี่ปุ่นมีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์จากผักเชียงดา ในเรื่องการลดน้ำตาลในเลือดและลดไขมัน ทั้งรูปของเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะนอกจากคำว่า gymnema มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ gurmar ” ในภาษาฮินดู ซึ่งหมายถึงผู้ฆ่าน้ำตาลแล้ว ในผักเชียงดา พบสารสำคัญในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่ชื่อ gymnemic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก นอกจากนี้ gymnemic acid ยังกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ที่บริเวณไอส์เลตออฟลังเกอร์ฮันส์ (islets of Langerhans) ในตับอ่อน กระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง
การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าส่วนสกัดซาโปนินที่แยกที่ได้สารสกัด 75% เอทานอลของใบเชียงดา และสารไตรเทอร์ปีนอยด์จากผักเชียงดา สามารถยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นผลมาจากการยับยั้งการนำกลูโคสจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ เมื่อทดสอบความทนต่อน้ำตาล (oral glucose tolerance test: OGTT) โดยป้อนสารนี้ให้แก่หนูแรทร่วมกับสารละลายกลูโคสขนาด 1 ก./กก.น้ำหนักตัว สามารถ ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญที่เวลา 15 นาที และ 30 นาทีหลังการทดสอบตามลำดับ
การศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครปกติ พบว่าเมื่อดื่มชาที่เชียงดา (มีใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 ก. ชงกับน้ำร้อน 150 มล.) ทันที หรือที่เวลา 15 นาทีหลังการทดสอบน้ำตาล มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ (19) และการรับประทานชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน อย่างไรก็ตามเมื่อทำการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ดื่มชาที่เตรียมจากใบเชียงดาแห้ง 1.2 ก. ชงในน้ำร้อน 150 มล. วันละ 3 ครั้ง หลังมื้ออาหาร 15 นาที ติดต่อกัน 8 สัปดาห์ ควบคู่ไปกับการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง กลับไม่พบฤทธิ์รักษาเบาหวานของชาเชียงดา
จะเห็นได้ว่าการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดายังมีไม่มากนัก โดยเฉพาะการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน แต่ผักเชียงดามีแนวโน้มที่ดีที่จะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลขั้นต้น อีกทั้งผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีการรับประทานเป็นอาหารมาช้านาน และยังไม่ปรากฏรายงานความเป็นพิษจากการรับประทาน อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาแผนปัจจุบันและต้องการรับประทานผักเชียงดา ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะเสริมฤทธิ์กับยา จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
เมนูอาหาร
นิยมนำใบอ่อน ยอดและดอกของผักเชียงดามาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริกหรือตำมะม่วง ผัดใส่น้ำมันหอยหรือผัดใส่ไข่ เมนูที่นิยมกันมาก คือ แกงใส่ปลาแห้ง หรือนำมาแกงร่วมกับผักชนิดอื่น เช่น ผักฮ้วน หรือ ผักตำลึง แกงผักเชียงดาใส่ปลาย่าง มีส่วนประกอบดังต่อไปนี้
- ยอดและใบอ่อนของผักเชียงดา
- มะเขือเทศ ถ้าจะให้อร่อยควรใช้มะเขือเทศพันธุ์พื้นเมือง
- ปลาแห้ง
- น้ำพริกแกง ประกอบด้วย พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม กะปิ
- ปลาร้า
วิธีทำ นำปลาแห้งมาต้มในหม้อให้เดือดเมื่อต้มเสร็จแล้วตักปลาแห้งออกนำมาแกะเอาแต่เนื้อปลา ใส่น้ำพริกแกงลงไปตามด้วยเนื้อปลาแห้ง ใส่ผักเชียงดาและใส่มะเขือเทศลงไป ใส่ปลาร้าและปรุงรสตามชอบใจ
ขอบคุณที่มา
pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/432/ผักเชียงดา-ลดน้ำตาลในเลือด